fbpx
 

ขายของต่างประเทศ ในเว็บต่างประเทศ ต้องเสียภาษีอย่างไร

ขายของต่างประเทศ ในเว็บต่างประเทศต้องเสียภาษีอย่างไร

ขายของต่างประเทศ ในเว็บต่างประเทศ ต้องเสียภาษีอย่างไร

ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบการและพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ชาวไทยหลายๆคนที่เข้าไปขายสินค้าในเว็บไซต์ Marketplace ของต่างประเทศอย่าง Amazon, eBay, ETSY และเว็บไซต์อื่นๆอีกเป็นจำนวนมาก Platform ส่วนใหญ่เหล่านี้จะเป็น Platform ของบริษัทต่างประเทศ มีลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการเป็นชาวต่างชาติที่อยู่นอกประเทศไทย และจ่ายเงินค่าสินค้าเป็นสกุลดอลลาร์

หลายๆคนจึงเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า ในกรณีแบบนี้ที่ลูกค้าอยู่ต่างประเทศ เว็บไซต์ที่ซื้อขายก็เป็นของต่างประเทศ แถมยังส่งสินค้าไปที่ต่างประเทศ เราในฐานะผู้ขายจะต้องเสียภาษีอย่างไร ต้องเสียภาษีให้กับประเทศไทยหรือไม่ บทความวันนี้ Fastship จะมาสรุปข้อมูลเกี่ยวกับภาษีที่คนขายของออนไลน์ไปต่างประเทศจะต้องรู้กันว่า คุณจะต้องเสียภาษีอะไรบ้าง โดยขอโน๊ตเอาไว้เพิ่มเติมค่ะว่าบทความนี้เขียนสำหรับผู้ที่มีเจตนาจะเสียภาษีอย่างถูกต้อง ไม่มีข้อสำหรับเทคนิคในการปิดรายได้

โดยภาษีที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้าออนไลน์ 4 กลุ่มด้วยกันคือ

 

1. ภาษีรายได้ (ภาษีเงินได้)

ในกรณีที่คุณอยู่ในประเทศไทยและส่งสินค้าไปขายในเว็บไซต์ต่างประเทศ ก็จะต้องนำรายได้นั้นมาคำนวนและเสียภาษีให้กับประเทศไทยด้วย เพราะในกรณีนี้ถือเป็นการทำงานในประเทศไทย (ใช้ทรัพยากรภายในประเทศ) และอยู่อาศัยในประเทศไทย โดยสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ บุคคลธรรมดา และ นิติบุคคล 

  • ภาษีรายได้บุคคลธรรมดา สำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ขายสินค้าผ่านเว็บไซต์ต่างประเทศและรับรายได้ในรูปแบบบุคคล ก็จะต้องชำระภาษีตามขั้นบันไดภาษีของแต่ละท่าน โดยจะต้องยื่นภาษีในมาตรา 40(8) หรือภาษีเงินได้ประเภทที่ 8 สามารถที่จะหักภาษีได้สูงสุด 60% ของยอดขาย
  • ภาษีรายได้นิติบุคคล สำหรับผู้ประกอบการที่ขายสินค้าผ่านเว็บไซต์ต่างประเทศ และมีรายได้ในรูปแบบนิติบุคคล จะต้องชำระภาษีตามผลประกอบการของบริษัท ซึ่งจะต้องนำรายได้ที่ได้จากการขายสินค้าออนไลน์ในเว็บไซต์ต่างประเทศไปรวมกับรายได้อื่นๆของบริษัทเป็นรายได้ประจำปีเพื่อคำนวนภาษีนิติบุคคลต่อไป

ดังนั้นการขายสินค้าออนไลน์ในเว็บไซต์ต่างประเทศและมีการส่งสินค้าจากประเทศไทยไปยังต่างประเทศ จะต้องทำการเสียภาษีรายได้ที่ได้จากการขายสินค้านั้น ไม่ต่างจากการขายสินค้าในประเทศ เพราะถือเป็นการทำงานในประเทศไทย ใช้ทรัพยากรภายในประเทศในการหารายได้

 

2. ภาษีนำเข้า

ภาษีนำเข้าเป็นภาษีที่รัฐบาลแต่ละประเทศเรียกเก็บจากผู้นำสินค้าเข้ามาในประเทศ โดยผ่านพิธีการศุลกากรขาเข้า ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าสินค้ามาทางน้ำ ทางบก หรือทางอากาศก็ตาม ศุลกากรแต่ละประเทศจะมีการเรียกเก็บภาษีเพื่อนำไปพัฒนาประเทศ โดยกรมศุลกากรมีหน้าที่จัดเก็บภาษีขาเข้า-ขาออกและภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ภาษีนำเข้านี้ ผู้ที่ชำระเงินคือผู้ที่นำเข้าสินค้า ซึ่งก็คือผู้ซื้อที่ซื้อสินค้าจากเรา ผู้ซื้อจะต้องทำหน้าที่ชำระภาษี อากรขาเข้า ให้กับศุลกากรของประเทศตัวเอง ดังนั้นเราในฐานะผู้ขายจะไม่ต้องชำระภาษีในข้อที่ 2 นี้

รายละเอียดเกี่ยวภาษีนำเข้ามีอยู่ 3 ประเภทใหญ่ๆที่ควรรู้เอาไว้ แม้ว่าคุณจะไม่ต้องชำระภาษีส่วนนี้ก็ตาม 

  1. ภาษีนำเข้า หรือ อากรนำเข้า
  2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับการนำเข้า
  3. ภาษีสรรพสามิต เป็นภาษีที่ภาครัฐของแต่ละประเทศจัดเก็บเพื่อหวังควบคุมการบริโภคสินค้านั้นๆ เช่นภาครัฐมองว่าน้ำตาลส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนก็จะมีการเรียกเก็บภาษีน้ำตาลขึ้นมา

สำหรับตัวอย่างวิธีการคำนวนภาษีที่ผู้รับจะต้องชำระเมื่อนำเข้าสินค้าเข้าประเทศ สามารถดูรายละเอียดได้ในบทความที่ Fastship เคยเขียนถึงตัวอย่างการคำนวนภาษีเมื่อนำสินค้าเข้าประเทศญี่ปุ่น ผู้อ่านสามารถใช้ตัวอย่างของประเทศญี่ปุ่นไปประยุกต์ใช้กับประเทศอื่นๆได้ค่ะ

 

3. ภาษีส่งออก อากรขาออก

ภาษี อากรขาออก เป็นภาษีที่ภาครัฐกำหนดขึ้นมาเพื่อพยายามควบคุมการส่งออกสินค้าบางประเภท ที่ภาครัฐไม่ต้องการให้ส่งออกมากจนเกินไป (สินค้าควบคุม) ก็จะมีการกำหนดภาษีขึ้นมาเมื่อผู้ประกอบการต้องการส่งออกสินค้านั้นๆออกนอกประเทศก็จะต้องจ่ายอากรขาออก แต่ในปัจจุบันนี้ อากรขาออกได้รับการยกเว้นในเกือบทุกรายการสินค้าแล้ว

สินค้าส่วนใหญ่ที่ส่งออกจากประเทศไทยจะไม่มีการเรียกเก็บ อากรขาออก สาเหตุก็เพราะว่าภาครัฐต้องการกระตุ้นภาคการส่งออก ด้วยการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันด้านต้นทุนเมื่อเทียบกับสินค้าที่มาจากประเทศอื่นๆได้

 

4. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับการส่งออก

สำหรับบริษัที่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (บริษัท/บุคคล ที่มีรายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี) โดยปกติแล้วเวลาขายสินค้าก็จะมีการรวมภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าไปในราคารวมของสินค้าด้วย อย่างที่เราคุ้นเคยกันมากที่สุดคือเวลาที่เราไปซื้อสินค้าหรือไปใช้บริการร้านต่างๆแล้วมีการบวก VAT 7% เข้าไปในราคาของสินค้าและบริการด้วย นี่คือภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT 7% ซึ่งสำหรับการส่งสินค้าไปต่างประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยจะมีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการส่งออกคือ 0% (หรือแปลง่ายๆว่าไม่ต้องเสียภาษี VAT สำหรับการส่งออกนั่นเอง) 

สาเหตุหนึ่งที่ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 0% ก็เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศให้มากยิ่งขึ้น ส่งเสริมทำให้ภาคการส่งออกเติบโตมากยิ่งขึ้น โดยการใช้นโยบายภาษีมูลค่าเพิ่ม 0% นี้เข้ามาช่วยผู้ประกอบการไม่ให้มีต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้การส่งออกของผู้ส่งออกสามารถแข่งกับสินค้าที่มาจากประเทศอื่นๆในตลาดโลกได้ แต่อย่างไรก็ตามสำหรับบริษัทที่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องยื่น VAT ในรอบบัญชีตามปกติอยู่ดี (ยื่นเป็น 0%) แนะนำให้สอบถามรายละเอียดกับบริษัทบัญชีที่ดูแลให้กับบริษัทของท่านอยู่ค่ะ

 

สรุปภาษีเมื่อขายสินค้าออนไลน์ในเว็บไซต์ต่างประเทศ

สำหรับผู้ประกอบการและพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ขายสินค้าในเว็บไซต์ต่างประเทศ จะต้องเสียภาษีในประเทศไทย โดยการเสียภาษีรายได้ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นภาษีรายได้แบบบุคคลหรือแบบนิติบุคคล โดยจะคิดอัตราภาษีตามขั้นบันไดรายได้เหมือนกับรายได้อื่นๆตามปกติ ส่วนภาษี อากรขาออก และภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT ขาออก ปัจจุบันสินค้าหลายๆชนิดได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายภาษีขาออก ดังนั้นถ้าคุณอยากจะขายสินค้าออนไลน์ ให้โฟกัสที่ข้อ 1 กับ 2 ค่ะ

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

https://ms.udru.ac.th/FNresearch/assets/pdf/ch15.pdf

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/E/128/32.PDF



Bitnami