fbpx
 

ส่งของแบบ FOB คืออะไร ทำความรู้จัก Term แบบ FOB

ส่งของแบบ FOB คืออะไร ทำความรู้จัก Term แบบ FOB

การค้าขายระหว่างประเทศจะต้องมีการกำหนดเงื่อนไขเป็นข้อตกลง เพื่อทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพราะแต่ละประเทศอาจจะใช้ระบบภายในที่แตกต่างกัน มีขั้นตอนอาจจะแตกต่างกัน แต่เมื่อต้องการค้าขายระหว่างประเทศ การมีเงื่อนไขที่เป็นระบบสากลจะช่วยให้การค้าและการส่งของระหว่างประเทศเป็นไปโดยสะดวกมากยิ่งขึ้น

ทำความรู้จัก INCOTERM

การค้าที่มีการใช้ข้อตกลงในการทำสัญญาซื้อขายที่มีความเป็นสากล ด้วยการทำตามเงื่อนไขที่ทุกประเทศจะใช้เหมือนๆกัน สิ่งนี้มีชื่อเรียกว่า INCOTERM (ย่อมาจาก International Commercial terms) ซึ่งมีหน้าที่ในการบอกขอบเขตในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆระหว่างการจัดส่ง รวมไปถึงความรับผิดชอบที่อาจจะเกิดขึ้นจากความเสี่ยงๆต่างๆในการขนส่ง เรียกได้ว่าถ้าจะมีการนำเข้าส่งออกระหว่างประเทศ ก็จะมี INCOTERM มาเป็นตัวกำหนดเงื่อนไข

INCOTERM ฉบับปัจจุบันปรับปรุงแก้ไขล่าสุดคือ INCOTERM 2010 เป็นมาตรฐานสากลที่ใช้กันในปัจจุบัน ซึ่งมี TERM ที่ใช้กันอยู่หลายตัว แต่ตัวหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากและใช้กันเยอะเกือบที่สุดเลยก็คือ TERM แบบ FOB (Free on Board) สำหรับผู้ที่ส่งออกสินค้าหรือนำเข้าสินค้าเข้ามาในประเทศไทยควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับ FOB เพราะเป็น TERM ที่ใช้กันมากในระดับสากล ถ้าคุณเข้าใจการทำข้อตกลงแบบ FOB นี้ก็จะช่วยให้สามารถส่งสินค้าระหว่างประเทศได้อย่างราบรื่นไม่ติดขัดปัญหาใดๆ

FOB คืออะไร

FOB ย่อมาจาก Free on Board เป็น TERM ที่ผู้ขายจะมีขอบเขตในการรับผิดชอบในการส่งมอบสินค้า ค่าใช้จ่าย ความเสี่ยงต่างๆของสินค้า ดูแลให้จนถึงท่าเรือต้นทาง ผู้ขายจะต้องรับผิดชอบในการนำสินค้าไปส่งมอบที่ท่าเรือต้นทางสำหรับการส่งออก เมื่อสินค้าขึ้นไปบนเรือแล้ว ค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงต่างๆจะเป็นของผู้ซื้อ ซึ่งผู้ซื้อจะเป็นผู้ดูแลภาระค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงต่างๆตั้งแต่สินค้าอยู่บนเรือเป็นต้นไป จนถึงปลายทาง

ความรับผิดชอบของผู้ขาย

ผู้ขาย (ผู้ส่งออก) เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดเตรียมสินค้าและนำไปจัดส่งให้ถึงท่าเรือต้นทาง โดยจะต้องจัดเตรียมสินค้า เอกสาร ใบกำกับสินค้า ใบสัญญา และส่งมอบสินค้าที่ท่าเรือต้นทาง ภายในระยะเวลาที่กำหนดเอาไว้ในสัญญา เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายต่างๆในการขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือต้นทาง ค่าใช้จ่ายในการแพ็คสินค้า ค่าใช้จ่ายอื่นๆซึ่งรวมถึงภาษีและอากรที่เกิดขึ้นก่อนที่สินค้าจะถูกส่งขึ้นเรือ ทั้งหมดนี้จะเป็นผู้ขายที่รับภาระส่วนแรกนี้ไป

ความรับผิดชอบของผู้ซื้อ

ในฝั่งของผู้ซื้อ ซึ่งก็คือผู้นำเข้า จะเป็นผู้รับผิดชอบการชำระเงินค่าสินค้า ความเสี่ยงต่างๆ ทำประกัน ตั้งแต่สินค้าขึ้นมาอยู่บนเรือแล้ว ผู้ซื้อจะเป็นผู้ดูแลเรื่องขั้นตอนในการนำเข้าเช่นการเตรียมเอกสารสำหรับดำเนินพิธีศุลกากร นอกจากนี้ถ้าหากว่าการขนส่งสินค้ามีการเดินทางผ่านหลายประเทศ ผู้นำเข้าจะต้องดำเนินเรื่องในการขนส่งสินค้าผ่านประเทศที่ผ่านนั้นๆด้วย ใน TERM แบบ FOB ผู้นำเข้าจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ประกันสินค้า และรับความเสี่ยงต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นตั้งแต่สินค้าขึ้นมาอยู่บนเรือจนกระทั่งออกจากท่าเรือต้นทางมาจนถึงยังจุดหมายปลายทาง 

ข้อควรรู้สำหรับการส่งของแบบ FOB

FOB เป็น TERM ที่ได้รับความนิยมมากสำหรับการส่งสินค้าระหว่างประเทศ เพราะมีความสะดวกต่อทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้าเพราะเป็นการแบ่งหน้าที่ให้กับทั้ง 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน คือ ผู้ส่งออกก็จะดูแลในส่วนของการส่งออกทั้งค่าใช้จ่าย เอกสาร และพิธีการต่างๆ จนกระทั่งสินค้าขั้นสู่เรือก็จะส่งมอบหน้าที่ให้เป็นของผู้นำเข้าที่เข้ามาดูแลถัดไป ทำให้ทั้งผู้ส่งออกและผู้ซื้อไม่ต้องรับภาระหนักจนเกินไป ซึ่งอาจจะเป็นงานในฝั่งที่ตัวเองอาจจะไม่ถนัด 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ผู้ซื้อในฝั่งอเมริกาที่นำเข้าสินค้าจากไทยเข้าสู่อเมริกา อาจจะไม่เข้าในกฎหมายการส่งออกของไทย ไม่เชี่ยวชาญการขนส่งภายในประเทศไทยเท่ากับผู้ส่งออกที่อยู่ในประเทศไทย ส่วนผู้ส่งออกในฝั่งไทยก็อาจจะไม่เข้าใจระบบ Logistic ของอเมริกาเท่ากับผู้ซื้อที่อยู่ในฝั่งอเมริกาอยู่แล้ว จึงไม่แปลกที่ FOB จะได้รับความนิยมสูงมากเพราะช่วยให้ทั้ง 2 ฝั่งได้ดูแลส่วนที่ตัวเองเกี่ยวข้องมากที่สุด

จุดเด่นของ FOB

ตอนนี้เราก็ได้รู้จัก TERM แบบ FOB กันไปแล้วว่าเป็นการกำหนดเงื่อนไขในการจัดส่งอย่างไร TERM แบบมีจุดเด่นอยู่หลายเรื่อง Fastship ได้สรุปจุดเด่นของ FOB เอาไว้ตามนี้เลยค่ะ

  • FOB มีการแบ่งหน้าที่และการรับผิดชอบที่ชัดเจน ทำให้เกิดความสะดวกต่อทั้ง 2 ฝ่าย และสามารถดูแลในส่วนของตัวเองได้อย่างทั่วถึง ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดส่งสูงและประหยัดค่าใช้จ่ายอีกด้วย
  • เนื่องจาก FOB ค่อนข้างได้รับความนิยม จึงสามารถหาข้อมูลและหาผู้ให้บริการที่ให้คำปรึกษาได้ง่าย ต่างจากบาง TERM ที่อาจจะมีผู้ให้บริการน้อยและผู้ซื้อในต่างประเทศก็อาจจะไม่อยากใช้ TERM นั้นด้วย
  • ผู้นำเข้าสามารถกำหนดเที่ยวเรือหรือไฟลท์บินได้ตามที่เห็นสมควร ผู้ส่งออกมีหน้าที่นำส่งไปยังท่าส่งออกที่ผู้นำเข้าเลือกเอาไว้
  • มีค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงมากนัก และทั้งผู้นำเข้าและผู้ส่งออกจะเป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่ายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับของตัวเอง


Bitnami