fbpx
 

เข้าใจการคิด ภาษีสินค้าออก อย่างถูกต้อง

ภาษีนำเข้าส่งออก

เข้าใจการคิด ภาษีสินค้าออก อย่างถูกต้อง

เวลาที่เราส่งพัสดุไปต่างประเทศ แน่นอนว่าต้องมีเรื่องของการเสียภาษีอากรเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาษีนำเข้าและภาษีส่งออก แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าจะต้องจ่ายภาษีตัวไหนและจ่ายเมื่อไหร่ รวมถึงคำถามสำคัญที่หลายๆคนให้ความสนใจคือ จะต้องเสียภาษีนำเข้าและส่งออกเท่าไหร่ ใครเป็นคนที่เสียภาษีนำเข้าส่งออกระหว่างผู้รับกับผู้ส่ง

เราจะเสียภาษีนำเข้า ภาษีส่งออก เมื่อใด?

การเสียภาษีอากรจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสินค้าของคุณเดินทางไปถึงประเทศปลายทาง แล้วสินค้ามีมูลค่าเกินหลักเกณฑ์ที่ประเทศปลายทางกำหนด ก็จะมีการเรียกเก็บค่าภาษีก่อนที่จะนำสินค้าเข้ามาในประเทศนั้นๆ โดยปกติแล้วการเสียภาษีจะเป็นความรับผิดชอบของ “ผู้รับ” เรียกว่าการเสียค่าภาษีนำเข้า และจำนวนภาษีที่จะต้องเสียนั้นขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ในการเรียกเก็บภาษีของแต่ละประเทศ สินค้าแต่ละชนิดจะมีอัตราภาษีที่แตกต่างกัน

แต่ละประเทศที่คุณส่งสินค้าไปนั้น จะมีกฎเกณฑ์ในการเรียกเก็บภาษีนำเข้าที่ไม่เหมือนกัน ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับประเภทสินค้า ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความร่วมมือเขตเศรษฐกิจระหว่างประเทศต้นทางกับปลายทาง และอีกส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับพิกัดของสินค้าและมูลค่าของสินค้านั้นๆ แต่ถ้าหากสินค้าที่จะนำเข้าประเทศปลายทาง มีมูลค่าต่ำกว่าจำนวนเกณฑ์ที่กำหนดเอาไว้ ก็จะไม่ต้องจ่ายภาษีนั่นเอง ข้อมูลเพิ่มเติมว่าแต่ละประเทศมีขั้นต่ำที่ไม่ต้องเสียภาษีเท่าไหร่

จะรู้ได้อย่างไรว่าจะต้องเสียภาษีสินค้าเท่าไร

ภาษีนำเข้าส่งออก

คราวนี้เรามาดูเรื่องที่หลายๆคนให้ความสนใจกัน นั่นก็คือ “เราจะต้องเสียภาษีเท่าไหร่ในการส่งของไปต่างประเทศ” ก่อนจะเริ่มคำนวณเกี่ยวกับภาษีจำเป็นจะต้องทำความรู้จักกับ “CIF”ก่อนว่ามันคืออะไร เพราะการคำนวณค่าภาษีนำเข้าจะอ้างอิงโดยใช้หลักการนี้เป็นหลัก

  • C คือ Cost หมายถึง ต้นทุน
  • I คือ Insurance หมายถึง ประกันภัย ซึ่งจะมีสองทางเลือก คือ ประกันเพื่อออกของ โดยคิด 1% จาก Cost (ไม่สามารถเคลมได้) กับ ประกันเพื่อเคลมได้ (คือซื้อประกันกับบริษัทประกัน)
  • F คือ Freight หมายถึง ค่าขนส่ง

ซึ่งเจ้าตัวมูลค่าต้นทุนหรือ C นั้นจะคำนวณโดยดูจากหมายเลขที่กำหนดไว้ของสินค้าแต่ละประเภท เราเรียกว่าพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ หรือชื่อย่อ HS Code สามารถตรวจสอบได้ที่นี่ ข้อมูลอัตรากรกรมศุลกากร แล้วเจ้าตัวเลข HS Code ที่ว่านี้คืออะไร HS Code ย่อมาจาก Harmonized System มันคือการแทนความหมายของสินค้าแต่ละประเภทขึ้นมาเป็นรหัส HS Code เพื่อให้มีความเป็นสากลในการระบุสินค้าแต่ละประเภท  อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ HS Code

สำหรับวิธีการคำนวณอัตราภาษี เราจะคำนวนจากตัวแปรทั้ง 3 นี้ โดยนำเอามูลค่าของ C, I, F ไปคูณกับอัตราอากรนำเข้าของประเทศปลายทาง ตัวอย่างเช่น ถ้ามูลค่ารวมของทั้ง C, I, F เท่ากับ 10,000 บาท และอัตราอากรขาเข้าคือ 5% ก็จะคิดอัตราอากรขาเข้าได้เท่ากับ 500 บาท แต่ยังไม่จบแค่นี้ เพราะการส่งของไปยังประเทศปลายทางหนึ่งครั้งจะยังมีภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มเติมอีก นั่นก็คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT 

สูตรที่ใช้ในการคำนวณค่าภาษีนำเข้า

  1. อากรขาเข้า = มูลค่ารวม CIF x อัตราอากรขาเข้า (5%, 10%, 20% หรือ 30% ขึ้นอยู่กับประเภทสินค้านั้นๆ)
  2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) = (มูลค่ารวม CIF + อากรขาเข้า) x อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT
  3. มูลค่ารวมภาษีขาเข้าที่ต้องชำระ = อากรขาเข้า + ภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT

จากตัวอย่างเดิมที่เราได้คำนวนอากรขาเข้า 5% ไปแล้ว นำมารวมเข้ากับมูลค่าของ CIF จะได้เท่ากับ 10,500 บาท ดังนั้นเราจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพิ่มเติมอีก สมมุติว่าประเทศปลายทางมี VAT = 10% เท่ากับว่าคำนวน VAT ได้ดังต่อไปนี้

  • VAT = 10,500 * 10% = 1,050
  • มูลค่ารวมภาษีขาเข้าที่ต้องชำระ = 500 + 1,050= 1,550 บาท


Bitnami