fbpx
 

สมัครขายของใน Amazon ต้องเตรียมอะไรบ้าง ทำอย่างไรให้ผ่าน

สมัครขายของในอเมซอนต้องเตรียมอะไรบ้าง

สมัครขายของใน Amazon ต้องเตรียมอะไรบ้าง ทำอย่างไรให้ผ่าน

เมื่อพูดถึงช่องทางการขายสินค้าไปต่างประเทศ เชื่อว่าหลายๆคนจะต้องนึกถึง Amazon เป็นที่แรกๆอย่างแน่นอน Amazon เป็น Marketplace ระดับโลกที่มีกำลังซื้อขนาดใหญ่เพราะมีผู้ใช้บริการจากทั่วโลก ทำให้เราสามารถเข้าถึงฐานลูกค้าในตลาดหลักๆได้เกือบทุกพื้นที่ Amazon ยังมีระบบที่รองรับทั้งการซื้อขายสินค้าที่มีประสิทธิภาพ จุดเด่นเหล่านี้ทำให้การขายสินค้าบน Amazon มีโอกาสที่จะสร้างยอดขายได้ง่ายกว่า Marketplace อื่นๆ รวมถึงจัดการได้อย่างมีระบบกว่าด้วย

สำหรับผู้ขายชาวไทยที่ต้องการขยายตลาดไปต่างประเทศผ่านการลงขายสินค้าใน Amazon ปัจจุบันก็สามารถที่จะทำได้ง่ายขึ้นกว่าในอดีตมาก เพราะคุณสามารถสมัครขายของได้เองโดยง่ายผ่านระบบ Seller central ของ Amazon และในปัจจุบันก็มีทีม Amazon Seller Thailand ที่เป็นพนักงาน Amazon ชาวไทย ทำงานที่ประเทศไทย คอยดูแลให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ต้องการขายสินค้าไทยไปยัง Amazon โดยเฉพาะ

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่มีความสนใจอยากเริ่มต้นขายของใน Amazon แต่ยังไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มต้นอย่างไรดี ไม่รู้ว่าต้องเตรียมอะไรบ้าง และจะทำอย่างไรให้สมัครขาย Amaon ได้อย่างราบรื่น บทความวันนี้เขียนขึ้นมาเพื่อคุณครับ เพราะเราจะพาไปดูสิ่งที่ต้องเตรียมเพื่อให้พร้อมสำหรับการสมัครขายของใน Amazon กัน มาเตรียมไปด้วยกันทีละสเต็ปเลยค่ะ

 

สิ่งที่ต้องเตรียมก่อนจะสมัครขายของใน Amazon

ตอนที่เราสมัครขายของใน Amazon ทีมงานของ Amazon จะเข้ามาทำการตรวจสอบข้อมูล และจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะอนุมัติให้สามารถขายสินค้าใน Amazon ได้หรือไม่ สาเหตุที่ต้องมีการตรวจสอบก่อนก็เพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพของผู้ขายสินค้าใน Amazon เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาซื้อสินค้าได้รับความมั่นใจว่าจะได้สินค้าที่คุณภาพและมาจากผู้ขายที่มีคุณภาพ ไม่ใช่สินค้าคุณภาพต่ำหรือของผิดลิขสิทธิ์ ดังนั้นก่อนที่เราจะสมัครบัญชีขายของใน Amazon ได้นั้น จะมีสิ่งที่เราจะต้องเตรียมตัวดังต่อไปนี้ค่ะ

 

1. เตรียมข้อมูลร้านค้าและสินค้าให้พร้อม

สินค้าที่คุณต้องการขายเป็นสินค้าอะไร อยู่ในหมวดหมู่ไหน ปัจจุบัน Amazon มีหมวดหมู่สินค้าให้เลือกขายได้มากกว่า 30 หมวดหมู่ แต่ไม่ใช่ว่าคุณจะขายได้ทุกหมวด เพราะในบางหมวดจะเป็นการควบคุมสินค้าที่ต้องได้รับการอนุมัติก่อนเท่านั้น ซึ่งคุณจะต้องขออนุมัติจาก Amazon เสียก่อนถึงจะขายสินค้าในหมวดหมู่นั้นๆได้

ตัวอย่างหมวดสินค้าที่จะต้องขออนุมัติก่อนที่จะลงขายใน Amazon ได้คือ ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสัตว์, ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์, สินค้าสำหรับเด็ก, ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม, ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและเส้นผม, ยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยังมีหมวดหมู่อื่นๆที่ต้องขออนุมัติก่อน สามารถดูรายละเอียดสินค้าที่ต้องขอนุญาติทั้งหมดที่ลิงค์นี้เลยค่ะ https://sell.amazon.co.th/sell/product-category?ref_=sdth_soa_product-cat_i

หลังจากที่เตรียมรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าที่ต้องการขายแล้ว ต่อมาเป็นเรื่องการตั้งชื่อร้านค้า ซึ่งชื่อนี้จะถูกใช้เป็น Display name หรือชื่อร้านที่จะโชว์ให้ลูกค้าเห็น ลูกค้าที่มาเลือกซื้อสินค้าใน Amazon มักจะอยากรู้ว่าสินค้านี้มาจากร้านค้าอะไร มันจึงเป็นเหมือนการสร้างแบรนด์ของคุณไปในตัว คุณสามารถตั้งชื่ออะไรก็ได้ แต่ถ้าจะให้ดีควรนึกในมุมที่มีแบรนด์ดิ้ง และไม่ควรเป็นชื่อที่ดูสแปมจนเกินไปเช่น Best seller shop haha 123 แบบนี้น่าจะไม่ได้รับการอนุมัติ

 

2. วิเคราะห์โปรไฟล์การขายเตรียมเอาไว้

ข้อมูลต่อมาที่คุณต้องเตรียมพร้อมก่อนสมัครคือ “คุณจะสมัครด้วยโปรไฟล์การขายแบบไหน” ตอนที่สมัครขายของใน Amazon จะมีการสอบถามว่าโปรไฟล์ของคุณเป็นแบบไหนระหว่าง 

  • เป็นผู้ผลิต: การเป็นผู้ผลิตหมายถึงการมีโรงงานหรือกระบวนการผลิตเป็นของตัวเอง มีความสามารถที่จะผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ตนเองได้
  • เจ้าของแบรนด์: เป็นเจ้าของแบรนด์สินค้านั้น อาจจะผลิตเองหรือจ้างผู้อื่นในการผลิตก็ได้ แต่คุณต้องเป็นเจ้าของสินค้าแบรนด์นั้น
  • ตัวแทนจำหน่าย: ในกรณีที่คุณไม่ได้เป็นผู้ผลิตสินค้าและก็ไม่ได้เป็นเจ้าของแบรนด์ด้วย ให้เลือกตัวเลือกนี้ คือการเป็นตัวแทนจำหน่าย หรือตัวกลางที่นำเอาสินค้าของผู้อื่นมาขายในร้านของคุณอีกที

 

3. เลือกแผนการขายที่เหมาะสม

การสมัครบัญชีผู้ขายใน Amazon นั้นมีทั้งหมดสองรูปแบบ ซึ่งใน Amazon จะเรียกว่าเป็น “แผนการขาย” ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดว่าคุณเป็นผู้ขายในลักษณะไหน ทั้ง 2 แบบจะมีราคาที่แตกต่างกันและมีรูปแบบในการคิดเงินจากการขายสินค้าที่แตกต่างกัน

  1. แผนการขายแบบบุคคลทั่วไป (Individual Selling Account) แผนนี้จะเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมต่อการขายสินค้า USD$0.99 ต่อสินค้าหนึ่งชิ้น เก็บเงินเมื่อสินค้าขายออกแล้ว
  2. แผนการขายแบบมืออาชีพ (Professional Selling Account) แผนนี้จะมีการเรียกเก็บเงินเป็นรายเดือนที่ราคา $39.99 ต่อเดือนไม่ว่าจะขายสินค้าจำนวนเท่าใดก็ตาม คุณก็จะจ่ายในราคานี้ราคาเดียว

แนะนำว่าสำหรับผู้ขายที่จริงจัง ไม่ได้ขายเล่นๆเอาสนุก หรือบริษัทต่างๆที่ต้องการขายสินค้าใน Amazon ให้เลือกแบบ Professional Selling Account ไปเลยค่ะ เพราะสามารถคาดการณ์รายจ่ายล่วงหน้าได้แบบชัดเจน และยิ่งขายได้เยอะก็ยิ่งมีกำไรที่ดีด้วย

 

4. เตรียมเอกสารยืนยันตนให้เรียบร้อย

คราวนี้มาถึงเรื่องของเอกสารที่จะต้องใช้ในการสมัครเปิดร้านขายของใน Amazon กันบ้าง สำหรับการสมัครตอนนี้จะมีเอกสารที่คุณควรเตรียมเอาไว้ดังต่อไปนี้ค่ะ

  1. บัตรประชาชน เพื่อเป็นการยืนยันตน โดยจะต้องใช้บัตรประชาชนเป็นชื่อที่ตรงกับชื่อที่ใช้ในการสมัคร ให้คุณเตรียมเป็นสำเนาสีเอาไว้ (ขอย้ำว่าสี) และสำเนาทั้งด้านหน้าและหลังค่ะ
  2. Bank Statement หรือเอกสารรับรองบัญชีธนาคาร สามารถขอได้จากธนาคารที่คุณเปิดบัญชีอยู่ได้เลย ซึ่งจะต้องใช้ชื่อในบัญชีธนาคารให้ตรงกับชื่อบัตรประชาชนและตรงกับชื่อที่สมัครในระบบด้วย เอกสารนี้จะต้องมีอายุไม่เกิน 90 วัน

 

5. เตรียมบัตรเครดิตและบัญชี Payoneer

เตรียมบัตรเครดิตให้เรียบร้อย เพราะเราจะต้องใช้บัตรเครดิตในการจ่ายค่าเปิดร้านใน Amazon และสำหรับการรับเงินจากการขายสินค้าใน Amazon คุณจะไม่สามารถใช้ Paypal ในการรับเงินได้ และ Amazon ก็ไม่รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อผ่าน Paypal ด้วย ดังนั้นถ้าใครจะใช้ Paypal อาจจะต้องมองหาช่องทางอื่นแทนค่ะ

อีกหนึ่งเรื่องที่ควรรู้คือ การรับชำระเงินเมื่อขายสินค้าใน Amazon ได้ ผู้ขายในเมืองไทยจะไม่สามารถรับชำระเงินผ่านการโอนจาก Amazon เข้ามายังบัญชีธนาคารในประเทศไทยได้โดยตรง ส่วนใหญ่แล้วนักขายไทยจะนิยมใช้บัญชี Payoneer ในการเป็นกระเป๋าเงินดิจิตอลเพื่อรับเงินจาก Amazon ก่อน จากนั้นค่อยถอนเงินจาก Payoneer เข้ามายังบัญชีธนาคารในประเทศไทยอีกที ซึ่งเป็นวิธีที่ค่อนข้างสะดวก ทำความรู้จัก Payoneer ได้ที่บทความนี้เลยค่ะ https://fastship.co/fastship-with-payoneer/

 

6. เตรียมอีเมลที่จะใช้ในการสมัคร

อีเมลที่จะใช้ในการสมัครเป็นผู้ขายใน Amazon เป็นสิ่งที่หลายๆคนมักจะมองข้ามและคิดว่าใช้อีเมลอะไรก็ได้ แต่ความเป็นจริงแล้วเราแนะนำให้คุณใช้อีเมลเฉพาะสำหรับการขายไปเลย ไม่ควรไปรวมกับอีเมลส่วนตัวที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวันเพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ เพราะในอนาคตจะมีการส่งอีเมลเข้ามาจากระบบของ Amazon เป็นจำนวนมาก และถ้าคุณขายดี (ซึ่งเราหวังว่าคุณจะขายดี) คุณจะได้รับอีเมลในแต่ละวันเยอะมากๆ 

ที่สำคัญคือควรเป็นอีเมลที่คุณใช้งานบ่อยๆ เปิดเข้ามาอ่านอีเมลได้บ่อยๆเวลาได้รับเมลแจ้งเตือนจะได้ไม่พลาด ในกรณีที่คุณเป็นเจ้าของแบรนด์ลองใช้อีเมลที่เป็นของแบรนด์มาสมัครได้หรือจะใช้อีเมลที่เป็นของบริษัทมาสมัครก็ได้เช่นเดียวกัน

 

ขั้นตอนสมัครบัญชีขายของใน Amazon

เมื่อเราเตรียมตัวเตรียมข้อมูลกันเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้ก็ถึงเวลาที่เราจะมาเริ่มต้นสมัครขายสินค้าใน Amazon กันได้เลย การสมัครขายของใน Amazon เราจะทำผ่านระบบ Seller central ซึ่งเป็นระบบสำหรับบริการจัดการร้านค้าของคุณใน Amazon คุณจะใช้ Seller central เป็นเสมือนกับระบบหลังบ้านของการขายของออนไลน์ใน Amazon เพื่อลงขายสินค้า จัดการสต็อคสินค้า จัดการสื่อสารกับลูกค้า ไปจนถึงการตั้งค่าต่างๆ

สำหรับการสมัครขายของใน Amazon ให้เข้าไปที่เว็บไซต์ sellercentral.amazon.com จากนั้นคลิกที่ปุ่ม Sign up เพื่อเริ่มต้นการสมัครได้เลย แล้วทำการล็อกอินด้วยบัญชี Amazon ที่มีอยู่ (ถ้าหากว่ายังไม่มีบัญชี Amazon มาก่อน จะต้องทำการสมัครบัญชี Amazon ก่อน) แล้วทำตามขั้นตอนของระบบได้เลยค่ะ

 

วิธีส่งสินค้าไปต่างประเทศให้กับลูกค้าที่สั่งซื้อใน Amazon

เมื่อสมัครเปิดร้านค้าและได้รับอนุมัติเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้ก็ถึงเวลาที่จะคุณจะเริ่มต้นขายสินค้าใน Amazon ได้เลย สำหรับใครที่ยังไม่มีไอเดียว่าจะขายสินค้าอะไรดี ลองดูสินค้าขายดีใน Amazon US เป็นตัวอย่างสำหรับการเลือกสินค้ามาขายได้เลยค่ะ และเมื่อคุณขายสินค้าใน Amazon ได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปที่จะต้องทำก็คือการส่งสินค้านั้นให้กับผู้ขาย ซึ่งจะมีอยู่ 2 วิธีหลักๆด้วยกัน

  1. ผู้ขายส่งสินค้าให้กับลูกค้าโดยตรง ทำการแพ๊คสินค้าแล้วจัดส่งให้กับลูกค้าตามที่อยู่ที่ลูกค้าแจ้งมา https://fastship.co/how-to-send-parcel/ ส่วนใหญ่แล้วผู้ขายมือใหม่ทั้งหมดจะเป็นแบบนี้ก่อนค่ะ
  2. ผู้ขายส่งสินค้าเข้าไปในคลังของ Amazon FBA ซึ่งเป็นรูปแบบที่ Amazon จะทำการส่งสินค้าให้กับผู้ปลายทางอีกที ทำความรู้จัก Amazon FBA

 

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

https://sell.amazon.co.th/sell

https://sell.amazon.co.th/sell/product-category?ref_=sdth_soa_product-cat_i

https://sell.amazon.co.th/sell/account-registration



Bitnami